จากหนังสือรวมงานนิพนธ์สร้างสรรค์จิตวิทยาครอบครัว
ของ องุ่น มาลิก
ลงตีพิมพ์ในนิตยสารรายปักษ์ นรี เมื่อ ปีพ.ศ.๒๕๒๗-๒๕๒๘
รวมพิมพ์ครั้งแรก เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๖
จัดพิมพ์โดยถูกต้องตามกฎหมาย
สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย บรรณาธิการ
เจริญ สงจันทร์ ผู้ช่วยบรรณาธิการ
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ศิษย์อาจารย์องุ่น มาลิก มูลนิธิไชยวนา
ข้อเขียนเรื่อง ศึกษาจิตวิทยา จากนิทานเรื่องพระราชาและยิวปะรอง ต่างคนต่างคิด
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีราชาจอมโหดพระองค์หนึ่ง พระองค์ได้กิตติศัพท์ว่าพวกยิวนั้นมีไหวพริบชั้นเชิงยิ่งนัก จึงสั่งให้ประกาศไปทั่วอาณาจักรว่า ถ้ายิวเก่งจริงให้เลือกส่งตัวแทนคนหนึ่งไปประลองปัญญากับพระองค์ ในการต่อสู้นั้นให้ใช้ภาษามือแทนภาษาปาก ถ้าแม้หญิงชายใดผู้เป็นตัวแทนยิวไม่สามารถตีความหมายภาษามือของพระราชาได้ จะถูกลงอาญาโบยร้อยครั้ง
ถ้าแม้ยิวผู้ใดโต้คารมได้เป็นที่พอพระทัยจะได้รับพระราชทานรางวัล ถ้าแม้ไม่มียิวใดออกมารับคำท้า ยิวทั้งแผ่นดินจะถูกลงโทษหรือเข่นฆ่าแล้วแต่กรณี
บรรดายิวทุกผู้ทุกนามทั่วอาณาจักรไม่มีใครอยากจะเจ็บตัวกระนั้นก็ไม่มีใครกล้าออกมาอาสารับคำท้าทาย อาจจะเป็นเพราะใครเล่าจะหวังมีชัยในการโต้วาทีที่ใช้ภาษามือแทนภาษาปาก แต่แล้วในที่สุดก็มีชายยิวผู้ยากจนอาชีพปะรองเท้าผู้หนึ่งอาสาออกมารับคำท้าของพระราชา
ในวันประคารมด้วยภาษามือแทนภาษาปากระหว่างพระราชาและชายยิวผู้ยากจนที่หน้าพระลานเนืองแน่นไปด้วยผู้คน ทั้งคนมีคนจน คนหนุ่มคนแก่ ตลอดจนลูกเด็กเล็กแดงทั้งยิวและไม่ใช่ยิวคละกัน
บนเวทียกพื้นมองเห็นชายปะรองเท้าในเนื้อผ้าซอมซ่อยืนสงบเสงี่ยมอยู่ข้างๆ
สมุหราชองค์รักษ์ พระราชาในชุดทรงอันเพริศพรายย่างพระบาทขึ้นสู่เวที ส่งพระเนตรไปที่คู่ต่อสู้อย่างเหยียดหยาม แล้วโบกพระหัตถ์เป็นเครื่องหมายว่าการประคารมจะเริ่ม ณ บัดนี้ :-
● พระราชายกนิ้วชี้ชูขึ้นฟ้า
ยิวเอานิ้วชี้ไปที่พื้นดิน
สัญลักษณ์ตอบฉับพลันจากช่างปะรองเท้ายิวทำให้พระราชาถึงกับสะดุ้ง
● พระราชาเสือกสองนิ้วออกมาข้างหน้า
ยิวชูนิ้วออกมานิ้วเดียว พุ่งตรงไปที่ใบหน้าพระราชา
● พระราชาพุ่งมือออกมาเบื้องหน้าด้วยนิ้วทั้งห้าแผ่เกร็ง
ยิวพุ่งหมัด เสือกตรงไปที่ใบหน้าพระราชา
● พระราชาล้วงมือเข้าไปในกระเป๋าเสื้อทรง ควักขวดเหล้าออกมา
ยิวล้วงกระเป๋าเสื้อหยิบเอาเนยแข็งออกมา
พระราชาทรงสั่งสมุหราชองค์รักษ์ให้มอบบำเหน็จรางวัลแก่ชายยิวผู้ยากจนที่ได้แสดงความสามารถเป็นยอดเยี่ยม สมุหราชองค์รักษ์ยื่นถุงบรรจุเหรียญทองให้แก่ยิว แล้วเร่งเดินติดตามพระราชากลับสู่พระราชวัง
เมื่อสบโอกาสสมุหราชองค์รักษ์ทูลขอให้พระราชาอธิบายเครื่องหมายด้วยมือที่ทรงใช้ตั้งแต่ต้นจนจบ พระราชาทรงพระสรวลและตรัสว่า :-
●นิ้วของเราชี้ขึ้นฟ้า หมายความว่าประชาชาติยิวมีจำนวนนับไม่ถ้วนเหมือนดาว
ยิวชี้ลงดิน เป็นคำตอบว่ายิวมีมากมายเท่าเม็ดทรายในแผ่นดิน และซ้ำถูก
เหยียบย่ำ
●เราชูสองนิ้ว หมายความว่ามีพระเจ้าสององค์ พระเจ้าแห่งความดี และ
พระเจ้าแห่งความร้าย
ยิวชูนิ้วเดียว หมายความว่า ยิวนับถือพระเจ้าองค์เดียว
●เราแผ่นิ้วทั้งห้าออก หมายความว่ายิวแผ่กระจายอยู่ทั่วโลก
ยิวกำหมัด หมายความว่าแม้กระจายกันอยู่แต่รวมเป็นปึกแผ่น
●เรายกขวดเหล้าองุ่นแดงขึ้นชู หมายความว่ายิวมีบาปสีแดงเหมือนสีเหล้า
ยิวชูเนยขึ้นให้ทุกคนเห็นกันทั่วว่า ยิวมีศีลธรรมบริสุทธิ์ขาวเหมือนเนย
คำอธิบายของพระราชายังความโสมนัสให้แก่สมุหราชองค์รักษ์ยิ่งนัก
ขณะเดียวกันประชาชนยิวต่างเลี้ยงฉลองกันอื้ออึงที่รอดพ้นการล่าประหารของพระราชาได้อีกครั้ง ท่ามกลางการร้องเพลงและเริงรำนั้นสงฆ์ยิวท่านหนึ่งเดินเข้ามาใกล้ชายปะรองเท้า และขอฟังว่ายิวเข้าใจภาษามือของพระราชาว่าอะไร และโต้ตอบเป็นความหมายว่าอะไรบ้าง
ผมจะเล่าให้ฟังด้วยความยินดีนะครับ :-
● พระราชาชูนิ้วขึ้นฟ้า นั่นพระองค์จะเอาผมแขวนคอ
ผมปักนิ้วลงดิน บอกพระองค์ว่าถ้าทำผมอย่างนั้น ผมก็จะส่งพระองค์ลง
นรกไปเลย
● พระราชาพุ่งนิ้วออกมาข้างหน้าสองนิ้ว จะมาควักลูกตาผม
ผมพุ่งออกไปนิ้วหนึ่ง กะให้ตรงหน้าพระราชา แปลว่า เอาก็เอากัน ตาต่อตา
ก็แล้วกัน
● พระราชายกมือขึ้นแผ่ออกมาทั้งห้านิ้วจะฟาดหน้าผม
ผมก็ชูกำปั้นขึ้น แปลว่า ผมพร้อมจะสู้
● เมื่อพระราชาเห็นผมเอาจริงคงไม่รู้จะทำยังไงซิ ยกขวดเหล้าออกมาชวนผม
ดื่ม ผมก็มีทีเด็ดควักเนยแข็งออกมาร่วมฉลองกัน
บัดนี้เราจะลองตรวจดูว่า ผู้ประพันธ์นิทานเรื่องนี้ พยายามเสนอให้เห็นแง่มุมของสังคมเก่าก่อน สมัยที่พระราชามีอำนาจเหนือชีวิตไพร่ฟ้าประชาชน โดยชี้ประเด็นเชิงจิตวิทยาว่า ธรรมชาติมนุษย์นั้นต่างคนต่างคิด พระราชาก็คิดอย่างพระราชา คนจนก็คิดอย่างคนจนใครดำรงชีวิตอย่างไร อยู่ในฐานะอย่างไร เคยชินกับสิ่งใดก็เอาสภาพนั้นๆ กำหนดความคิดของตน
พระราชาคิดอย่างนักการเมือง มองว่าอะไรเป็นพิษภัยต่ออำนาจของตน และอะไรเป็นเครื่องมือสนับสนุนอำนาจตน ในเรื่องนี้ความคิดของพระราชาที่แสดงออกโดยสัญลักษณ์มือจึงปรากฏเป็นสี่ประการคือ
๑. จำนวนประชากรยิวมีนับไม่ถ้วนเหมือนดาวบนฟ้า
๒. สิ่งที่บังคับใจมนุษย์ได้คือ สวรรค์ และนรก
๓. ยิวมีลูกหลานสืบชาติอยู่ทั่วโลก
๔. ยิวเป็นชนชาติที่มีบาปติดตัว
เนื่องด้วยพระราชาคิดอย่างนี้ จึงมองเห็นภาษามือของยิวช่างปะรองเท้า ค้านพระองค์เป็นข้อๆ ไปดังที่เราได้ฟังมาแล้ว นับเป็นการแก้ประเด็นหลุดเป็นเปลาะๆ จนทำให้พระราชาพอพระทัยและยอมจำนน
ผลการประชันความคิดครั้งนี้แสดงว่า พระองค์ได้รับคำตอบต่อสิ่งที่พะวงสงสัยอยู่คือ จำนวนหลากหลายของประชากรยิวทั่วโลกยากที่จะกดไว้ใต้อำนาจ ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ความคิดจะเอาเงื่อนไขของสวรรค์-นรก, บุญ-บาป ครอบงำจิตใจประชากรยิวให้สยบจำนนนั้นไม่มีทาง
ส่วนชายยิวช่างปะรองเท้าผู้ยากจนก็คิดตามประสาผู้อยู่ใต้ปกครอง คือต้องดิ้นรนต่อสู้ให้ได้มีชีวิตรอดวันต่อวัน เขาจึงคิดแต่เรื่องการต่อสู้เพื่อรักษาตัวให้พ้นภัย และการหาอาหารประทังชีวิต เขาเป็นอยู่อย่างไร เขาก็คิดได้แค่แวดวงที่เขาเคยชินเท่านั้น กล่าวคือ
๑. เมื่อเขาคิดว่าพระราชาจะแขวนคอเขา เขาก็ส่งเครื่องหมายด้วยมือว่า เขาจะส่งพระราชาลงนรกก่อน
๒. เมื่อเขาคิดว่าพระราชาจะทะลวงนัยน์ตาของเขา เขาก็ส่งเครื่องหมายด้วยมือว่า ตาต่อตาก็แล้วกัน
๓. เมื่อเขาคิดว่าพระราชาจะฟาดหน้าเขา เขาก็ส่งเครื่องหมายด้วยมือว่า เขามีหมัดพร้อมจะสู้
๔. เมื่อเขาเห็นขวดเหล้าองุ่นแดงในมือพระราชา เขาคว้าเนยแข็งออกมาจากกระเป๋ากางเกงเป็นเครื่องแกล้มเหล้า
ชวนให้คิด
๑. ปมขำของชีวิตคงจะอยู่ที่ว่า เพราะต่างคนต่างคิด ต่างคนจึงเลือกตีความหมายเอาตามที่ภูมิหลังของตนกำหนด หากมันไปจ๊ะเอ๋อย่างสมพร้อมด้วยปัจจัยรอบด้านดังนิทานเรื่องนี้ก็โชคดีไป
๒. เป็นไปได้ไหมว่า เรื่องนี้มันสะกิดใจให้เราต้องตั้งใจฟังผู้อื่นพูด และพยายามทายใจเขาให้ออก เพื่อป้องกันความเพลี่ยงพลั้ง
๓. พูดกันด้วยภาษาใบ้มันก็เพียงนี้ แต่มนุษย์ได้พัฒนามาจนมีภาษาพูดอย่างสลับซับซ้อนดั่งปัจจุบัน ไฉนเล่าจะไม่มีภาษาพูดที่แม้พระราชาก็อาจเข้าใจถึงการดำรงอยู่ของประชากร ซึ่งแม้จะยากไร้และแตกต่างจากวิถีชีวิตของพระราชา แต่ก็เป็นคนเหมือนกัน
|